โรงสีพงษ์เจริญ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร

สีข้าวให้ดี มีคุณภาพ ต้องเริ่มต้นจากพันธุ์ข้าว

ในบรรดาโรงสีที่ผุดขึ้นอยู่เรียงรายตามพื้นที่เพาะปลูกนั้น ส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นจากกระแสการค้าข้าว มีเพียงไม่กี่โรงที่สั่งสมประสบการณ์และถ่ายทอดอาชีพ "คนสีข้าว" จากรุ่นสู่รุ่น โดยยังคงความคลาสสิกร่วมสมัย ทำให้ปล่องไฟที่หลายคนลืมเลือนดูมีสเน่ห์ และเต็มไปด้วยมนต์ขลัง เช่นเดียวกับอาณาบริเวณของโรงสีพงษ์เจริญ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของ "คนสีข้าว" ตั้งแต่ยุคสมัยที่ใช้ควายเทียมเกวียน

โรงสีแห่งนี้เริ่มต้นขึ้นในสมัยเตี่ยของผมเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน ด้วยแนวคิดที่ว่า "ทำอะไรก็ได้ที่คนต้องใช้ ต้องกินทุกวัน" และนั่นคือที่มาของการเลือกทำโรงสีข้าว สมัยนั้นเราใช้คนงานสีข้าวด้วยมือ ใช้ครกหางกระเดื่อง สีข้าวได้ครั้งละ 4-5 ถุง ใส่เกวียนวิ่งไปขายในตัวเมืองอุบลฯ ซึ่งห่างจากจุดนี้ราว 100 กว่ากิโลเมตร หลังจากนั้นมาราวปี 2500 ขณะผมอายุได้ 15 ปี ผมก็เริ่มเข้ามาดูแลกิจการทางบ้านเต็มกำลัง มีการซื้อเครื่องบดข้าวเข้ามาใช้ในโรงสี สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ราว 20 กระสอบต่อวัน (กระสอบป่าน 100 กิโลกรัม) เราสีข้าวกันอยู่เช่นนั้นจนกระทั่งปี 2505 มีเครื่องสีข้าวเข้ามาในประเทศ ผมกับเตี่ยจึงเข้าไปขออนุญาติจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (เป็นกฎข้อบังคับในสมัยนั้น) เพื่อติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งเมื่อเดินเครื่องเราก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ราว 20 เกวียนต่อวัน ซึ่งถือว่ามากโขอยู่สำหรับโรงสีในชนบทสมัยนั้น

คุณจ่าวพงษ์กล่าวย้อนอดีตที่ผ่านมา

คัดพันธุ์ข้าว ที่มาของคุณภาพ

นอกจากโรงสีจะต้องปรับตัวให้ทันยุคสมัยแล้ว สิ่งที่เขาให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการควบคุมคุณภาพ คุณลักษณะนี้ถือเป็นจุดแข็งของโรงสีพงษ์เจริญ เพราะข้าวของโรงสีเป็นข้าวหอมมะลิที่มาจากพื้นที่ 3 อำเภอที่มีแร่ธาตุเหมาะสำหรับปลูกข้าวให้อร่อยที่สุด ดีที่สุดเท่านั้น นั้นคืออำเภอเลิงนกทา อำเภอกุดชุม และอำเภอไทยเจริญ โดยรางวัลข้าวหอมมะลิที่ทางโรงสีพงษ์เจริญได้รับทุกปีคือเครื่องยืนยัน และล่าสุดในปีนี้ข้าวหอมมะลิของโรงสีพงษ์เจริญก็ได้รับรางวัล "ข้าวหอมมะลิตราคุณภาพดีเด่นแห่งประเทศไทย" อีกด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถคงคุณภาพข้าวไว้ได้ในยุคทองของการค้าข้าวที่ผู้ประกอบการต่างล้วนมีการแข่งขันจนหลงลืมไปว่า คุณภาพคือจิตวิญญาณที่แท้จริงของคนสีข้าว

แม้เราจะมีความได้เปรียบในเรื่องของทำเล พื้นที่เพาะปลูก หากแต่การควบคุมคุณภาพก็เป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเราให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นหลัก ต้องส่งเสริมให้ชาวนาใช้ข้าวให้ตรงกับสเป็กที่เราต้องการ เราสนับสนุนให้ชาวนาคัดพันธุ์ข้าว และมีการนำพันธุ์ข้าวที่ดีจากกรมการข้าว จังหวัดอุบลราชธานี มาขายให้พี่น้องเกษตรกร อีกทั้งยังส่งเสริมให้เก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่แก่จัดและไม่เร่งรีบจนเกินไป หลังจากนั้นจึงค่อยมามุ่งเน้นที่กรรมวิธีการสีข้าว อาทิ การตั้งรอบเครื่องให้เหมาะสม เทคนิคการสีข้าวเหล่านี้ เป็นกลวิธีที่เถ้าแก่โรงสีทุกคนต้องมีความรู้พอสมควร ไม่รู้ไม่ได้ เพราะแม้เครื่องจักรจะดีแค่ไหนแต่ก็มีหลายปัจจัยที่ทำให้เมล็ดข้าวสีออกมาสวย ผมเองเป็นคนที่มีความใส่ใจใฝ่รู้ ประกอบกับการเป็นคนช่างสังเกต และผมมีความรู้ความชำนาญในด้านของการสีข้าวมาตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้ผมสามารถเรียนรู้การทำงานต่างๆ ได้รวดเร็วจากช่างที่มาติดตั้งเครื่องเพียง 1 สัปดาห์

เราให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นหลัก ต้องส่งเสริมให้ชาวนาใช้ข้าวให้ตรงกับสเป็กที่เราต้องการ เราสนับสนุนให้ชาวนาคัดพันธุ์ข้าว อีกทั้งยังส่งเสริมให้เก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่แก่จัดและไม่เร่งรีบจนเกินไป

สู่ทายาทรุ่นที่สาม

ปัจจุบันคุณจ่าวพงษ์ ส่งต่อธุรกิจให้กับคุณเฉลิมชัย ภูมะพานิช บุตรชายคนโต มาเป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปีแล้ว ด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพและประกอบกับเจเนอเรชั่นที่สามเหล่านี้ก็มีความพร้อมที่จะเข้ามารับช่วงบริหารกิจการโรงสีพงษ์เจริญ โดยคุณเฉลิมชัย ผู้เป็นบุตรชายกล่าวว่า

"แม้ผมจะคลุกคลีกับโรงสีมาตั้งแต่เล็กๆ สมัยอากง จวบจนกระทั่งเติบใหญ่มาถึงสมัยคุณพ่อ เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงและการเจริญเติบโตของธุรกิจครอบครัวมาโดยตลอด ถามว่าชอบไหม ก็ต้องตอบว่า ผมรักในอาชีพโรงสีโดยไม่รู้ตัว มันเป็นอาชีพของครอบครัว เป็นสิ่งที่อากง และป๊ะป๋าทำมา ถ้าเราไม่รับช่วงต่อปล่อยให้มันหายไปต่อหน้าต่อตาคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าผมเองก็ได้ใช้วิชาความรู้และประสบการณ์ที่เรียนมาทางด้านการตลาดเข้ามาช่วยบริหารธุรกิจ หลายคนถามผมว่าก้าวต่อไปของโรงสีพงษ์เจริญรุ่นที่สามจะเป็นเช่นไร ผมยึดหลักเช่นเดียวกับป๊ะป๋าคือเราขออยู่อย่างพอเพียง แต่มีความสุข ซึ่งเข้ากับสภาวะปัจจุบัน เพราะกำลังการผลิตของโรงสีทั้งประเทศนั้นถือว่าไปไกลเกินกว่าปริมาณข้าวเปลือกที่ชาวนาผลิตได้ หากเราต้องการเพิ่มกำลังการผลิตตามกันไป ต้องกว้านซี้อข้าวหอมมะลิจากทุกแหล่งที่หาได้ เราก็ไม่สามารถจะควบคุมคุณภาพข้าวได้ เราจึงไม่ต้องการปริมาณ แต่เราเน้นคุณภาพ สำหรับผมก้าวต่อไปเราจะมุ่งเน้นด้านการตลาด โดยพยายามตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด เช่น การเพิ่มขนาดของเพคเกจให้เหมาะสมกับขนาดของครอบครัวไทยในปัจจุบัน ซึ่งใน 1 ครอบครัวมีสมาชิกราว 4 คน หุงข้าวกินอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ อย่างนี้เป็นต้น เราจึงมีแพคเกจสินค้าขนาดกระสอบปุ๋ย 49 และ 15 กิโลกรัม และแบบถุงขนาด 5 และ 1 กิโลกรัม นอกจากนี้เรายังคำนึงถึงความสะดวกในการรับประทาน จึงอาจมีการพัฒนาให้เป็นสินค้าพร้อมรับประทานต่อไปในอนาคต"